หน้าแรก ธุรกิจส่วนตัว 5 ปัจจัยสำคัญ ที่ควรประเมินความเสี่ยงก่อนการทำธุรกิจ

5 ปัจจัยสำคัญ ที่ควรประเมินความเสี่ยงก่อนการทำธุรกิจ

265
5ปัจจัยสำคัญที่ควรประเมินความเสี่ยงก่อนการทำธุรกิจ

ทุกๆความฝันในการทำธุรกิจมักจะมาพร้อมกับความกลัวเสมอ บ้างก็กลัวว่าจะเจ๊ง บ้างก็กลัวจะถูกโกง บ้างก็กลัวว่าเราจะทำไม่ได้ กลัวเสียหน้า กลัวสายตาคนรอบข้าง ฯลฯ สารพัดความกลัวที่สามารถเกิดขึ้นได้เสมอ นี่คือเหตุผลสำคัญว่าก่อนจะทำธุรกิจใดก็ตามควรที่จะประเมินความเสี่ยงที่เราอาจจะเจอในอนาคตก่อน ลองมาดูกันว่าความเสี่ยงที่คนทำธุรกิจเค้าเจอกันส่วนใหญ่มีเรื่องอะไรบ้าง

1. เทรนด์

สมัยก่อน “การตามเทรนด์หรือกระแส” จะมีความสำคัญกับธุรกิจที่เกี่ยวกับแฟชั่นเป็นหลัก แต่สำหรับปัจจุบันมีความสำคัญกับทุกๆธุรกิจ เพราะเทรนด์ในปัจจุบันไม่ได้จำกัดอยู่แค่ “ตัวสินค้า”เท่านั้น แต่ “รูปแบบบริการ” ก็ยังมีการเปลี่ยนไปด้วย เหตุผลส่วนหนึ่งเป็นเพราะปัจจุบันนี้ปัจจัยทางด้าน เทคโนโลยี สื่อออนไลน์ และการขนส่ง มีการพัฒนาที่ก้าวกระโดดมาก หลายธุรกิจต่างก็ใช้ประโยชน์จากจุดนี้นำมาเป็นจุดขายในการให้บริการที่รวดเร็วขึ้น การใช้เทรนด์เป็นตัววัดความเสี่ยงหมายความว่าให้คุณสามารถดึงประโยชน์จากเทรนด์เหล่านั้นมาใช้ในธุรกิจ และในทางกลับกันถ้าคนอื่นใช้แล้วคุณยังอยู่ในวิถีแบบเดิมๆ ก็ย่องเสี่ยงที่คุณจะล้าหลังกว่าคู่แข่งเป็นแน่

2. นโยบายภาครัฐ

อย่าเห็นว่าภาครัฐไม่มีส่วนสำคัญกับธุรกิจของคุณ เพราะทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนชุดรัฐบาล เปลี่ยนนโยบายภาครัฐ จะต้องมีสิ่งใหม่เกิดขึ้นเสมอ ซึ่งนโยบายภาครัฐก็ประกอบไปด้วยหลายด้านด้วยกัน มีทั้งนโยบายหลัก นโยบายเร่งด่วน อย่างสิ่งที่เห็นกระทบกับภาคเศรษกิจบ่อยก็อย่างเช่น การปฏิรูปโครงสร้างภาษี จริงๆแล้วข้อนี้ธุรกิจใหญ่ๆ เค้าตระหนักดี และสำหรับธุรกิจเล็กๆ อย่างเราก็อยากให้ประเมินความเสี่ยงเอาไว้บ้างว่าถ้าหากภาครัฐเปลี่ยนโยบายใหม่จะกระทบกับเราอย่างไรบ้าง

3. หุ้นส่วนของคุณ

วลีไทยมีคำหนึ่งที่พูดว่า “รวมกันเราอยู่ แยกหมู่เราตาย” แต่ในขณะเดียวกันก็มีหลายคนที่พูดว่า “อย่าทำธุรกิจกับเพื่อนเพราะมันจะทำให้เราเสียเพื่อนที่ดีไป” เอ…แล้วอย่างนี้เราจะทำอย่างไรกันดีละเนี่ย ข้อนี้จึงเป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่ควรประเมินตั้งแต่ต้นว่าถ้าหากตัดสินใจร่วมหุ้นกันแล้วจะเกิดความเสี่ยงในอนาคตหรือไม่ เราจะทำงานด้วยกันได้ไหม เรารับข้อเสียของกันได้หรือไม่ เวลามีปัญหากันเราจะสามารถคัยกันได้หรือไม่ และถ้าตัดสินใจว่าจะทำธุรกิจไปต่อด้วยกัน สิ่งต่อมาก็คือต้องแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบและแบ่งผลประโยชน์กันให้ชัดเจน

4. ทีมงานของคุณ

หรือที่เรียกว่า People Risk ซึ่งความเสี่ยงทางด้านบุคลากรเกิดได้จากหลายสาเหตุเช่นกัน ได้แก่ ขาดความรู้ ขาดทักษะ มีความสามารถแต่ไม่ตรงกับลักษณะของงาน ไม่มีใจรักในการทำงาน พนักงานไม่เพียงพอ ไปจนถึงการทุจริตต่าง ๆ สิ่งเหล่านี้มีความสำคัญไม่ใช่น้อย ถ้าหากคุณเป็นเจ้าของธุรกิจแต่ไม่เก่งพอในการบริหารคนมีความเสี่ยงที่จะทำให้ธุรกิจล้มได้เลยทีเดียว

5. ความเสี่ยงจากเหตุปัจจัยภายนอก

มักจะเป็นความเสี่ยงที่เกิดขึ้นโดยฉับพลันไม่ทันตั้งตัว เช่น ภัยธรรมชาติ ภัยพิบัติต่างๆ การเกิดสงครามกับประเทศยักษ์ใหญ่แต่ส่งผลกระทบกับประเทศเล็กๆ การเปลี่ยนแปลงกฏหมาย การเกิดอุบัติเหตุถูกเรียกร้องค่าสินไหม ไปจนถึงการถูกปล้นต่างๆ ข้อนี้เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการหลายคนมักให้ความสำคัญน้อยที่สุด แต่เมื่อใดที่เกิดเหตุการณ์เหล่านี้ มักจะทำให้ธุรกิจเกิดความเสียหายมากที่สุดเสมอ

ปัจจัยเหล่านี้ เป็นความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับธุรกิจได้เสมอ หลายๆปัจจัยเป็นสิ่งที่เราไม่อาจควบคุมได้ แต่สิ่งหนึ่งที่ทำได้คือการ “หมั่นประเมินความเสี่ยงอยู่เสมอ” หมั่นสังเกตเหตุบ้านการเมืองว่ามีปัจจัยใดบ้างที่เกี่ยวกับธุรกิจของเราทั้งโดยตรงและโดยอ้อม วิธีการเหล่านี้จะช่วยลดความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นจากปัจจัยความเสี่ยงต่างๆ ได้